พระมหามัยมุนี
พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม

พระมหามัยมุนี
มหามัยมุนี แปลว่า “ผู้รู้อันประเสริฐ” (The Great Sage) ชาวพม่าจะเรียกว่า “มหาเมียะ” ถือเป็นต้นแบบพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ทรงเครื่องกษัตริย์ ที่พระจ้ากรุงยะไข่ทรงหล่อขึ้นที่เมืองธรรมวดี เมื่อปี พ.ศ. 689 สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หน้าตักกว้าง 9 ฟุต หุ้มด้วยทองคำเปลวหนา 2 นิ้ว ปางมารวิชัย
ในปี พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุงได้สร้างวัดมหามุนี หรือวัดยะไข่ เพื่อประดิษฐานพระมหามัยมุนี และในปี พ.ศ.2422 สมัยพระเจ้าสีป่อก่อนจะเสียเมืองพม่าให้อังกฤษได้เกิดไฟไหม้วัดจึงทำให้ทองคำเปลวที่ปิดพระละลายออกมา เก็บเนื้อทองได้นํ้าหนักถึง 700 บาท ซึ่งในปี พ.ศ.2426 ชาวพม่าผู้ศรัทธาได้เรี่ยไรเงินเพื่อบูรณะวัดขึ้นใหม่ มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยสายการออกแบบของช่างชาวอิตาลี จึงนับได้ว่าเป็นวัดที่สร้างใหม่ที่สุดแต่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในเมือง
ในการมา ทัวร์พม่า ท่านจะได้ร่วมพิธีการล้างพระพักตร์อันสำคัญถือเป็นการสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยความเชื่อว่าพระมหามัยมุนี นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต เพราะด้วยเหตุที่ได้รับประทานพร (บางตำนานก็เล่าว่าได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า) จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย ทุกเช้าเวลาประมาณ 04.00 น. พระมหาเถรระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธาจะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดี พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนที่ถวายมาเช็ดจนแห้งสนิท พร้อมทั้งใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันดีเสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่จริงๆ
ในส่วนขององค์พระมหามัยมุนีได้มีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้เกิดเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์ ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไปก็จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพันๆ หมื่นๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม”