
ใครที่มาเที่ยวเชียงราย ทัวร์ภาคเหนือ แน่นอนว่าไฮไลท์ของ จ.เชียงรายก็คือ วัดร่องขุ่นนั่นเอง เป็นวัดพุทธและวัดฮินดู ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน จากที่ท่านเคยเห็นแต่วัดสีทองมาตลอด จึงมีความคิดที่จะสร้างสีที่แปลกออกไป และอยากให้สวยงาม สะดุดตา สร้างขึ้นด้วยแรงปณิธานที่มุ่งมั่น รังสรรค์งานศิลปะที่งดงามแปลกตาผสานวัฒนะธรรมล้านนาอย่างกลมกลืน ทั้งลวดลายปูนปั้นประดับกระจกและจิตรกรรรมฝาผนังขนาดใหญ่ ลักษณะเด่นของวัดคือ พระอุโบสถถูกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาวเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาคมีงวงงาดูแปลกตาน่าสนใจมาก ลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏบนผนังและอุโบสถนั้น มาจากภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นฝีมือภาพเขียนของ อาจารย์เอง

ประวัติของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

อ.เฉลิมชัยเป็นจิตรกรที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับคนหนึ่งของประเทศไทย ท่านเป็นชาวหมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เป็นบุตรคนที่ 3 ชีวิตตอนเด็ก ๆ เป็นคนเกเร ไม่ตั้งใจเรียน แต่มีความชอบวาดรูป จึงพยายามเข้าเรียนที่เพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร ภาควิชาศิลปไทยรุ่นแรก ปี 2521 เคยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดผลงานระดับชาติ ในตอนที่เรียนอยู่ตอนปีที่ 4 มีผลงานรูปวาดตามผนังของวัดไทยมากมาย ผลงานปัจจุบัน อ.เฉลิมชัยตั้งใจที่จะสร้างวัดร่องขุ่น ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของเขา ด้วยศิลปะไทยประยุกต์ หรือศิลปะสมัยใหม่ ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และท่านก็ทำสำเร็จ จนเป็นผลงานที่ติดอันดับสิ่งปลูกสร้างสวยงามอันดับ 3 ของโลก

โดยโทนสีที่ใช้ในการสร้างวัดร่องขุ่น เน้นสีขาว ซึ่งมีความหมายดังนี้
สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สะพาน : การเดินข้ามจากวัฎสงสารสู่พุทธภูมิ
เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
สันของสะพาน : มีอสูร ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา



ส่วนห้องน้ำ ตกแต่งสวยงามวิจิตรศิลป์มากๆ ด้วยสีทองอร่าม มองเห็นเด่น เรียกว่า เป็นห้องน้ำที่สวยที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ (ผู้คนที่ไม่รู้มักจะไหว้เมื่อเดินผ่าน เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นที่พักของคณะสงฆ์)
