นานาสาระประเทศลาว
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ชื่อเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว (Lao People’s Democratic Republic) เมืองหลวงคือ นครหลวงเวียงจันทน์ มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร (หรือครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) มีจำนวนประชากรประมาณ 6.4 ล้านคน
ทิศเหนือ ติดกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทิศตะวันออก ติดกับประเทศเวียดนาม
ทิศตะวันตก ติดกับประเทศไทย
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกับประเทศเมียนมาร์
ทิศใต้ ติดกับประเทศกัมพูชา
ภูมิประเทศ
ลาวตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน หรือที่เรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” อุดมสมบูรณ์ด้วยภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและที่ราบสูง แม้จะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ลาวก็มีแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตของชาวลาวไหลผ่าน
เราอาจแบ่งภูมิประเทศของลาวได้เป็น 3 เขตด้วยกันคือ
1. เขตภูเขาสูง อยู่สูงกว่าระดับทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป เป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ มีป่าไม้หนาแน่นที่สุด เป็นที่อยู่ของลาวสูงหรือม้งซึ่งมีอาชีพทำนาบนที่สูงและทำไร่
2. เขตที่ราบสูง เป็นพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับทะเล 1,000 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยที่ราบสูงขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงภาคใต้ เป็นที่อยู่อาศัยของลาวเทิง ซึ่งมักทำอาชีพเพาะปลูก ทำนาชั้นบันได ทำไร่เลื่อนลอย เป็นต้น
3. เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบด้วยแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่างๆ นับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เป็นที่อยู่ของลาวลุ่ม มีอาชีพหลักคือทำนาลุ่มและทำการเกษตร

ธงชาติลาวมีชื่อเรียกว่า ธงดวงเดือน เป็นธงสามแถบตามแนวนอนประกอบด้วยสีแดง-สีน้ำเงิน-สีแดง โดยแถบสีแดงทั้งสองแถบมีขนาดเท่ากัน ส่วนแถบสีน้ำเงินมีขนาดเท่ากับแถบสีแดงสองแถบรวมกัน ภายในมีวงกลม สีขาวอยู่กึ่งกลาง วงกลมสีขาวตรงกลาง หมายถึง พระจันทร์เต็มดวงที่เปล่งประกายอยู่เหนือลำน้ำโขง แสดงถึงเอกภาพของชาติภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคประชาชนปฏิบัติลาว และอนาคตอันสดใสของประเทศ
ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติลาวคือ ดอกจำปา ที่คนไทยเรียกดอกลีลาวดี หรือดอกลั่นทมนั่นเอง ชาวลาวนิยมนำมาทำเป็นพานบายศรีสู่ขวัญถวายพระ และนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองตามประเพณีอันดีงามมาแต่โบราณกาล ดอกจำปาที่เป็นดอกไม้ประจำชาติของลาวจะมี 5 กลีบสีขาวปนเหลือง บานซ้อนกันอยู่ในดอกเดียว เปรียบเสมือนความเจริญรุ่งเรือง ใบสีเขียวอ่อนเปรียบเสมือนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และธรรมชาติ จนมีคำกล่าวกันว่า “ดอกจำปาที่สวยที่สุดจะบานอยู่ประเทศลาวเท่านั้น”

สัตว์ประจำชาติ
สัตว์ประจำชาติลาว คือ ช้าง (เพราะลาวคืออาณาจักรล้านช้างในอดีตนั่นเอง)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อีกทั้งทำเลที่ตั้งก็มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากกว่า ทำให้ในหลายๆ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ลาวต้องตกอยู่ในสถานะเป็นรัฐกันชน
**คำนี้น่ารู้** คือ รัฐหรือประเทศเล็กๆ ที่เป็นเอกราช มีฐานะสำคัญทางการเมืองที่ช่วยไม่ให้ประเทศมหาอำนาจเกิดบาดหมางทำสงครามกันได้ง่ายๆ

1. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์)
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก ซึ่งเชื่อมต่อเทศบาลเมืองหนองคาย ประเทศไทย เข้ากับบ้นท่านาแล้ว นครหลวงเวียนจันทน์ ประเทศลาว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทำพิธีเปิดร่วมกับนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2537 สะพานนี้ยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร ทางเดิน 2 ช่องทาง และทางรถไฟ

2. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)
ตั้งอยู่บ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร โดยข้ามไปลงที่บ้านนาแก เมืองคันทะบูลี แขวงสะหวันนะเขต รูปแบบเป็นสะพานคอนกรีต 2 ช่องจราจร ยาว 1,600 เมตร การเดินทางข้ามสะพานจะต้องใช้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศเท่านั้น ค่าโดยสารคนละ 45 บาท

3. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)
เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย (นครพนม) กับประเทศลาว (คำม่วน) ที่บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้าและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนามและภาคใต้ของประเทศจีน มีความยาวรวม 780 เมตร ประกอบด้วยช่องจราจร 2 ช่อง และไม่มีทางรถไฟ
ภูมิอากาศ
ประเทศลาวตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 29-33 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ทางตอนเหนืออากาศหนาวเย็น ทางตอนกลางและตอนใต้คล้ายคลึงกับประเทศไทย คือ มีภูมิอากาศแบบป่าฝนเมืองร้อน ฝนตกเกือบตลอดปี ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในทะเลจีนใต้ จึงทำให้แบ่งสภาพภูมิอากาศได้เป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย.
ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ค. – ต.ค.
ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ย. – ม.ค.
ลาวมีแม่น้ำสำคัญสายหลักของประเทศคือ แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศรวมระยะทางประมาณ 1,850 กิโลเมตร เปรียบเสมือนสายเลือด หล่อเลี้ยงชาวลาวให้สามารถยังชีพอยู่ได้ เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชาวลาวให้สามารถยังชีพอยู่ได้ และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนลาว ทั้งในด้านเกษตรกรรม ประมง การผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นพรมแดนธรรมชาติ เป็นเส้นทางคมนาคมของคนในประเทศ และเป็นเส้นทางการค้ากับต่างประเทศด้วย